Trade on the Tigris: เร่เข้ามาสู่การค้าแห่งลุ่มน้ำ

“มีสองปลาขอหาแลกแพะหน่อย….”

“มีบรอนซ์ไหมแลกกับอะไรก็ได้….”

“ทำไมยัดไส้คนเถื่อนมาด้วย หลอกกันนิน่า!!…..”

“บ้าจริงถือสินค้านี้ไว้กับมืออารยธรรมถดทอยกันพอดีจะหาทางแลกออกไปยังไงดีนะ…..”

ณ ลุ่มแม่น้ำไทกริสที่ทอดยาวผ่านเมโสโปเตเมียแหล่งกำเนิดอารยธรรม เป็นจุดที่อุดมไปด้วยหลากชาติพันธ์มาติดต่อค้าขายกัน เราคือหนึ่งในชนชาตินั้นที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้า เจรจาต่อรอง ในเกมยูโรระดับกลางกึ่งๆครอบครัวนิดๆ ออกแบบโดย Geoff Engelstein (Space Cadets, The Expanse), Ryan Sturm

side note: ผมเคยเขียนถึงกลไกหลักในการแลกของที่ใช้ในเกมนี้ไว้ที่ “กลไกที่ผมชอบ : ระบบเทรดใน Mega Civilization https://wp.me/p7TSgy-MN”

ไอเดียหลักของเกมนั้นง่ายมาก คือเป็นการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้าในมือระหว่างผู้เล่น (นึกถึง Chinatown/Catan ไว้) นายมีไอ้นั้นสองมาแลกไอ้นี่หนึ่งไหม อะไรเทือกๆนั้นแหละ ต้นรอบก็แจกการ์ดสินค้าจั่วได้มากน้อยแล้วแต่เทคโนโลยีที่ทำมา พอแลกกันเสร็จก็เอาการ์ดสินค้ามาจัดเซ็ทให้หลายเป็นแต้มอีกที การ์ดยิ่งซ้ำชนิดกันแต้มก็ยิ่งเยอะ เกมจับเวลารอบล่ะ 7 นาที เล่นห้ารอบก็จบ

20181223_213337
แต้มของเราจะมาจากการสะสมสินค้าซ้ำชนิด(ครึ่งบน) ส่วนครึ่งล่างจะบอกว่าเราได้เดินแทรคไหนไปทางด้านไหน

แต่เดี๋ยวก่อน.. เกมมันไม่ได้มีแค่นั้น

เนื่องจากมันเป็นเกมธีมอารยธรรมผู้เล่นก็เลยมีแทรคสองแบบให้เดิน ได้แก่แทรคการปกครอง กับแทรคศาสนา แต่ล่ะแทรคก็เดินไปซ้ายหรือขวาก็ได้ ฝั่งการปกครองถ้าเอียงไปฝั่งหนึ่งเยอะก็แปลว่าเราเน้นการปกครองนั้นๆดึงกันไปมา (มีประชาธิปไตย กับ ทรราช) ส่วนอีกแทรคก็เป็นแนวศาสนาว่าเราอยากจะเน้นที่ศาสนาไหน (มีศาสนา Marduk กับ Ashur ซึ่งเป็นศาสนาโบราณแถวๆลุ่มแม่น้ำนั้นแหละ แต่เอาจริงๆเรียกศาสนาฟ้ากับแดงก็ได้)

ความสำคัญคือในตอนต้นรอบเราจะได้รับการ์ดเทคโนโลยีประจำ แทรคการปกครอง/ศาสนา ที่เรายืนอยู่ ยิ่งเราไปสุดสายนั้นๆเท่าไรเราก็จะยิ่งได้รับการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็แต้มตอนจบก็จะดีขึ้น (แต่มีกิมมิคเล็กๆว่าถ้าไปสุดโต่งไปแต้มจะลดแทน) ตัวการ์ดมีหลายแบบไม่ซ้ำกันและแต่ล่ะสายก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง

20181223_211031
ผู้เล่นจะมีสองแทรคให้เดินผ่านการแลกเปลี่ยนการ์ดสินค้ายิ่งเดินไปสุดทางก็จะยิ่งได้การ์ดที่ดีขึ้น

ที่นี้ไอ้ระบบนี้มันช่วยการเล่นเกมนี้ยังไง? เกมนี้การ์ดสินค้าจะมีอยู่สองครึ่ง ด้านบนก็คือชนิดของสินค้าพร้อมเลขกำกับว่าถ้าเราจัดชุดสินค้าได้ซ้ำกี่ใบจะได้แต้มเท่าไร กับครึ่งล่างที่เป็นโบนัสที่จะให้เราเดินแทรคศาสนากับการปกครอง แล้วก็พวกของอื่นๆอย่างเช่นคนเถื่อนที่ถ้าใครมีเยอะสุดตอนจบรอบจะเสียแต้ม กับพิณแทนอารยธรรมที่ถ้าใครมีเยอะสุดจะได้เทคโนโลยีฟรี

คีย์หลักของเกมนี้ก็คือตอนแลกของเนี่ยจะแลกกันยังไงก็ได้แต่ห้ามโชว์ของในมือและห้ามโกหกของที่อยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างนี้ตอแหลยังไงก็ได้ตามสบายเลย……

ที่มันสนุกคือแบบถ้าผมเดินแทรคศาสนาสีฟ้าเอาไว้เยอะผมก็ย่อมไม่ได้อยากได้การ์ดที่ให้โบนัสศาสนาสีแดงกับผม เพราะมันจะดึงแทรคศาสนาผมไปอีกด้าน (ทำให้แต้มกับระดับเทคโนโลยีตกลง) ทำให้ถ้ามีการ์ดที่ให้โบนัสฝั่งที่ผมไม่อยากได้ถืออยู่ในมือผมก็ต้องหาทางเทรดออกไป นี้ยังไม่รวมว่าไอ้ครึ่งล่างนี้มันมีการ์ดที่ให้ผลทางลบอย่างคนเถื่อนที่ถ้าใครมีเยอะสุดจะต้องเสียแต้ม หรือใบที่ให้ผลร้ายอื่นๆ แกนหลักของเกมเลยกลายเป็นเกมเจรจาแบบตอแหลครึ่งใบ แต่หลายครั้งเราก็ต้องยอมแลกอยู่ดีเพราะครึ่งบนเวลารวมกันเยอะๆแล้วแต้มมันบวกเยอะ เอาใบเดี่ยวๆหรือสองใบเหมือนนี้แทบไม่มีค่าอะไรในเกมนี้

อีกเลเยอร์ที่ทำให้เกมเจรจาได้เพิ่มอีกก็คือระบบเทคโนโลยีที่เราจั่วๆมานั้นแหละ มันจะมีทั้งแต่แบบพื้นๆอย่างช่วยให้เราจั่วการ์ดสินค้าได้เพิ่ม หรือเป็นสินค้าพิเศษเอาไว้ให้ใครก็ตามที่เทรดกับเราได้ของบางอย่าง หรือกระทั้งการ์ดเกเรๆอย่างทุกรอบคนงานทุกคนต้องตาย แต่ถ้ามาเทรดเอาใบคุ้มครองจากเราไปก็รอดไปนะในตานี้ก็มี

🐸 [กบโอเค]

หลักๆแล้วผมชอบเกมนี้ในแง่ที่มันเอาระบบการค้าขายของเกม Civilization ที่ผมชอบมากเอามาแยกออกมาปรับเป็นเกมของตัวเองได้อารมณ์กำลังพอดี (คือผมเคยคิดเล่นๆมานานแล้วว่าระบบนี้ดีมากๆ ทำไมถึงยังไม่มีคนเอามาทำเป็นเกมนะ) เล่นไม่นาน ที่ให้โอเคเพราะคงไม่ได้กางบ่อยๆ แต่ก็นับว่าเป็นเกมสายครื้นเครงที่ผมเล่นแล้วสนุกทุกครั้งที่ได้เล่น เพราะตัวเลขมันไม่เห็นกันชัดเจนแบบ China Town ที่ถ้าบวกเลขเป็นซักนิด ราคา optimal มันก็ลอยมาจนคุยไม่สนุก หรือถ้าเทียบกับตอนเจรจาใน Catan มันก็ไม่ได้ใสซื่อหรือมีจังหวะที่คนไม่ยอมเทรดกับเราเพราะจะปั่นแต้มจบเอง ( แต่ก็ไม่ได้เกรียนไร้สติขนาด I’m The Boss)

20181223_211020
ระหว่างเล่นการ์ดเทคโนโลยีก็จะเยอะนิดนึงที่กองอยู่ทางขวาคือบอกว่าเราจะจั่วการ์ดสินค้าได้เยอะแค่ไหน

ข้อดีเล็กๆอีกอย่างคือด้วยความที่มันเป็นเกมที่จับเวลาต่อรอบทำให้เกมไม่ค่อยยืดเยื้อเท่าไร จบในเวลาแน่นอนทุกครั้ง ตัวเกมบอกว่าสามารถปรับเวลาตรงนี้ได้ แต่ผมคิดว่าเท่าที่เค้าแนะนำมาก็ดีพอล่ะคุยกำลังดีจบเกมแล้วไม่รู้สึกว่ายืดเยื้อ

จุดที่ไม่ชอบนิดหน่อยคือการ์ดมันเล็กแล้วทำตัวหนังสือบนการ์ดเล็กอีกเลยแอบอ่านยากนิดๆ กับตอนท้ายๆเกมพอการ์ดเทคโนโลยีมันเยอะ เวลาเทรดๆนี้ชอบลืมว่าเรามีของต้องไปนำเสนอ เพราะมัวแต่มองเรื่องการ์ดสินค้าตรงหน้าไรงี้ แต่ในแง่มันก็อาจจะเป็นความตั้งใจให้เกิดอารมณ์วุ่นวายตลาดๆของเกมก็ได้

จุดที่ทำให้อาจจะกางยากนิดหน่อยที่ไม่ใช้ปัญหาของตัวเกมก็คือเกมมันมีภาษาปนอยู่พอควรในบรรดาการ์ดเทคโนโลยี แต่ส่วนตัวผมค่อนข้างเฉยๆนะ ภาษาไม่ได้เยอะแบบซับซ้อนอะไร กติกาส่วนที่ไม่ใช่การ์ดก็คลีนมาก รวมๆคือถ้าอ่านภาษาได้แล้วอยากได้เกมเจรจาแบบลุ้นเล็กๆบลัฟนิดๆ ล่ะก็ค่อนข้างแนะนำให้ลองเกมนี้นะ

😍 กบโปรด – อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ – พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค – ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย – ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น – ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ 🙂


[Thought เป็นหมวดว่าด้วยความคิดเห็นสั้นๆเกี่ยวกับเกม ยังไม่เป็นรีวิวเต็มตัว]

 

Leave a comment